29.11.09

พนมเปญ...พนมเปญ






ไม่ได้มีเวลามากพอที่จะทำตัวเป็นนักสังเกตการณ์สภาพสังคม ณ กรุงพนมเปญ ได้อย่างละเอียด แต่ช่วง 3 วันที่ได้สัมผัสเมืองหลวงกัมพูชาครั้งแรก ก็ประทับใจกับผู้คนหลายเรื่องค่ะ

แวบแรกที่เห็นรู้สึกได้เลยว่า กรุงพนมเปญ กำลังโต แต่โตแบบเข้าข้างผู้มีอันจะกิน บ้านเมืองกำลังเต็มไปด้วยเครนก่อสร้าง โดยเฉพาะบ้านหลังใหญ่ๆ ตึกสูงๆที่ทำการค้า และมีรถคันโตมากมาย หลายๆรุ่นยังไม่เข้ามาในประเทศไทยด้วย มีเบนซ์สปอร์ตของบรรดาลูกของผู้มีฐานะ น้ำมันที่พนมเปญไม่ถูกนะคะ ลิตรละ 43 บาท แต่ก็มีผู้คนขับรถกันมากมาย รถติดมากมายเช่นกัน ไปไหนต้องเผื่อเวลาพอสมควร

ผู้คนส่วนใหญ่ใช้รถมอเตอร์ไซค์ และจักรยาน และยานพาหนะสามประเภท รถเก๋ง มอเตอร์ไซค์ จักรยาน รวมทั้งคนข้าม ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันพอสมควร ใครอยากเปลี่ยนเลน อยากขับรถ อยากข้ามถนน ก็เชิญ แต่ระวังกันเอง ดูกันเองแล้วกัน ไม่ค่อยมีเสียงบีบแตรกันเท่าไร ถ้าเป็นบ้านเราขืนใครขับแบบตามใจฉันเช่นนั้น...เป็นเรื่อง อาจถึงขั้นยิงกันตายได้...ยังค่ะ กรุงพนมเปญยังไม่ถึงขั้นนั้น

สี่แยกที่บันทึกภาพมา ค่อนข้างกลางเมือง และตึกสึเหลืองที่คล้ายๆโดม กำลังจะกลายเป็นห้างสรรพสินค้าในไม่ช้า

และโดยรอบสีแยกมีแม่ค้านั่งขาย "ปัง" กันหลายเจ้า เป็นอาหารเช้าหลักของคนที่นี่ค่ะ ดิฉันไปยืนๆอยู่ แม่ค้าคนหนี้พอหันมาเห็นยิ้มให้กล้องด้วยความเป็นมิตร ขนมปังฝรั่งเศสตกชิ้นละ 7 บาทค่ะ รับประทานแล้วอร่อยดี ยิ่งจิบกับน้ำชาด้วยละก็เพลินไปเลย แต่ถ้าอยากจะรับประทานให้อิ่มก็ต้องซื้อแบบใส่หมูยอ และ ผัก จะตกชิ้นละราว 20 บาท

รอยยิ้มที่ประทับใจที่สุดครั้งนี้มาจาก พี่น้องตระกูลคิม พี่ชายและน้องสาว ที่ตลาดรัสเซีย ตอนแรกไปยืนมองๆ ถามเด็กผู้ชายว่าพูดภาษาไทยได้มั้ย เด็กบอกพูดไม่ได้ แต่พูดภาษาอังกฤษได้ จากนั้นยืนคุยจ้อ คุยไม่หยุด น่ารัก ช่างเจรจาพูดภาษาอังกฤษเป็นไฟทั้งพี่ชาย น้องสาว ทั้งคู่กำลังเรียนโรงเรียนนานาชาติ ครูเป็นชาวอเมริกัน อังกฤษ และ ฟิลิปปินส์ เด็กๆเหล่านี้จะเติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยคุณภาพของกัมพูชา และน่าจะขยายฐานของคนชั้นกลางในประเทศให้มากขึ้น จากที่คนส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด คนชนบท

อีกด้านหนึ่งเด็กชนบท ที่ขาดโอกาสเรียนหนังสือกำลังถีบตัวกันยกใหญ่ค่ะ เพราะต้องการสร้างโอกาสให้ตนเอง และเริ่มเหลือทนกับสภาพของครอบครัวตนเอง และของประเทศ

คราวหน้าดิฉันจะเล่าต่อว่าเด็กชนบทกำลังหาทางออกกันอย่างไร

15.11.09

ไทย-กัมพูชา ไม่ใช่เรื่องของสองประเทศเท่านั้น





10 วันเต็มกับมาตรการตอบโต้ทางการทูตระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นรอบ 10 วันที่ผู้ติดตามข่าวสารไม่อยากเห็นเหตุการณ์ตึงเครียดในระดับที่เคยเกิดขึ้นเหมือนเมื่อ 6 ปีก่อน กับการเผาสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ

ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ย้ำว่ายึดผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทยเป็นหลัก แต่จะระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนจนถึงขั้นปิดด่านไทย-กัมพูชา

ผู้นำไทยตอกย้ำอยู่บ่อยๆ อย่างชัดเจน แล้วผู้นำกัมพูชา นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ไม่ได้ยินหรอกหรือ

เรื่องไม่ได้ยินไม่น่าจะใช่ แต่น่าจะเป็นเรื่องของความตั้งใจหรือจุดประสงค์ที่อาจจะต้องการให้ไทยตัดสินใจปิดด่านพรมแดน เพราะผู้ที่จะสูญเสียไม่ใช่ใคร จะเป็นประเทศไทยกับมูลค่าการค้าถึงสี่หมื่นล้านบาทที่จะต้องหายไป และนักธุรกิจไทยรายใหญ่ที่ไปลงทุนในกัมพูชาที่จะต้องเดือดร้อน มูลค่าความเสียหายของไทยจะสูงกว่าของกัมพูชา ที่แรงงานส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาในไทยในแต่ละวัน เป็นคนงานนอกระบบเป็นหลัก แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้นำกัมพูชาเป็นห่วงเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเป็นหลัก โดยมิได้คิดถึงคนกัมพูชา ผู้ต้องข้ามไปข้ามมาระหว่างพรมแดน ติดต่อค้าขายกับคนไทยในแต่ละวัน

6 ปีก่อน ช่วงเหตุการณ์เผาสถานทูตไทย “ตาอยู่” ก็คือเวียดนาม ที่มูลค่าทางการค้าของกัมพูชาเทไปที่เวียดนามแทนตำแหน่งของไทย และครั้งนี้ตาอยู่ อาจจะกำลังจ้องอยู่ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น

กัมพูชาเองตอนนี้การเมืองในประเทศก็ร้อนใช่ย่อย เมื่อผู้นำฝ่ายค้านอย่างสัม รังสี นำชาวบ้านไปถอนหลักปักเขตแดนที่ สวายเรียง ร้อนถึงรัฐบาลเวียดนามร้องเรียนมายังผู้นำกัมพูชาให้จัดการเรื่องนี้ด้วย

ล่าสุดมีข่าวว่า ฮุน เซน เตรียมถอดถอนเอกสิทธิ์คุ้มครองทางสภา “immunity” ของสัม รังสี ซึ่งหมายความว่าผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาจะถูกดำเนินคดี ฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย แม้จะอยู่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เกมการเมืองภายในกัมพูชา การชิงพื้นที่ของนักการเมือง กลายเป็นประเด็นที่ผู้นำอย่างฮุน เซน เพิ่มความนิยมทางการเมือง ด้วยการนำพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เข้าไปกัมพูชา ทั้งที่รู้ทั้งรู้อยู่ว่าจะกลายเป็นความบาดหมางกับผู้นำไทย

เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของผู้นำกัมพูชาที่ไม่ได้สนใจอะไรอื่นมากกว่ารักษาฐานเสียง ฐานอำนาจของตนเอง เพื่อจะให้อยู่ในตำแหน่งไปตลอดชีวิต อย่างที่เคยได้ลั่นวาจาไว้

ตอนนี้ภาระหนักตกกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ที่เจอศึกรอบด้านทั้งในบ้าน และ นอกบ้าน ที่ต้องคุมอารมณ์ให้อยู่ ไม่หลงกล ไปตามเกมของผู้นำกัมพูชา ที่รู้จักผู้นำไทยมาแล้วถึง 12 คน

6.11.09

แถลงการณ์ สม รังสี




ช่วงหัวค่ำวันที่ 5 พฤศจิกายน ได้รับอีเมลล์จาก สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา หลังจากเมื่อ 15.30 น.รัฐบาลออกแถลงการณ์ปรับความสัมพันธ์กับกัมพูชา และได้เรียกเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ กลับประเทศไทยทันที

โพสต์ ข้อความให้อ่านค่ะ

Sent: Thu, 5 November, 2009 19:12:39
Subject: Statement by Sam Rainsy


Please pass this on to the Thai press in Bangkok. Thank you.
Sam Rainsy


November 5, 2009

STATEMENT

I am surprised to see my name associated with the name of Mr. Thaksin Shinawatra of Thailand on his official appointment as an adviser to Cambodia’s government led by Mr. Hun Sen. It would never come to my mind to serve a foreign government that is at odds with my own country. All my time and resources are and will be exclusively devoted to serving and defending my sacred motherland Cambodia.

Sam Rainsy
Elected representative of the people of Cambodia


การตอบโต้ของฮุนเซน ต่อรัฐบาลไทย และแถลงการณ์ของสม รังสี น่าจะเกี่ยวเนื่องกับการมาประเทศไทยของสม รังสี เมื่อวันที่ 22 กันยายน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการเมืองและสื่อมวลชนในกัมพูชา เมื่อวันที่ 22 กันยายน วันนั้นดิฉันได้ไปติดตามงานสัมมนา และสัมภาษณ์ สม รังสี ซึ่งออกอากาศไปแล้วทาง ที่นี่ ทีวีไทย น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆปีที่สม รังสี ได้มาเมืองไทยและได้คุยกับสื่อมวลชน


เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาประชุมสุดยอดผู้นำอาเซ๊ยนที่หัวหิน และพอมาถึงก็ได้แสดงท่าทีว่าพร้อมที่จะให้ที่พักพิงแก่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในกัมพูชา

Hun Sen noted "If (Cambodian opposition leader) Sam Rainsy could come to Thailand as he did recently to make statement against the Cambodian government, why my good friend Thaksin could not come to Cambodia?"


ฮุน เซน ย้ำว่า "ถ้าสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชามาประเทศไทย แล้วต่อว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ ทำไม่เพื่อนที่ดีของผมอย่างคุณทักษิณ จะไปกัมพูชาบ้างไม่ได้"

กลายเป็นสองเหตุการณ์ต่างเวลา ต่างวาระ ที่ถูกจับมาเกี่ยวข้องกันจนได้ หรืออะไรก็จะเกิดขึ้นได้กับการเมืองกัมพูชา...และการเมืองไทย